วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์



การปกครองของไทยแต่สมัยเดิมมามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักโดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดระยะเวลาเกือบ 500 ปี มิได้การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปกครองขนานใหญ่แต่อย่างใดจนถึงรัชสมัย พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อันเป็นระยะที่ประเทศไทย ได้มีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้นกว่าแต่ก่อน วัฒนธรรมและอารยธรรมต่างๆได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยประกอบกับอิทธิพลในการแสวงหา เมืองขึ้นของชาติตะวันตกที่สำคัญ 2 ชาติ คืออังกฤษและฝรั่งเศสกำลังคุกคามเข้ามาใกล้ประเทศไทยประการสำคัญที่สุดก็คือ พระอัจฉริยะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงคาดการณ์สำคัญในอนาคตอย่างถูกต้อง จึงได้ดำเนินรัฐประศาสนโยบายนำประเทศไทยให้พ้นวิกฤตการณ์ จากการคุกคามทางการเมืองมาได้นำประเทศไทยสู่ความก้าวหน้ายุคใหม่อันเป็นสำคัญที่เป็น รากฐานในการปกครองปัจจุบัน
การปฏิรูปการบริหาร (Administrativereform) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2435 นี้นับว่าเป็นการปฏิรูปการปกครองการบริหารที่สำคัญของชาติไทยและนำความเจริญรุ่งเรืองนานัป มาสู่ประเทศชาติและปวงชาวไทย ดังจะกล่าวถึงมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปการการปกครองดังกล่าวต่อไป



ลักษณะการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์

การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปการปกครองการบริหารที่สำคัญของชาติไทยโดยมีมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิด การปกครอง คือ

มูลเหตุของการปรับปรุงการปกครอง

เนื่องจากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุการณ์บ้านเมืองได้ผันแปร แตกต่างกว่าเดิมเป็นอันมาก ทั้งความเจริญของบ้านเมืองก็เป็นเหตุให้ข้าราชการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับลักษณะการปกครองที่ใช้มาแต่เดิมนั้นย่อมพ้นความต้องการตามสมัยสมควรที่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "..การปกครองบ้านเมืองของเราซึ่งเป็นไปในปัจจุบันนี้ ยังไม่เป็นวิธีการปกครองที่จะให้การทั้งปวง เป็นไปโดยสะดวกได้แต่เดิมมาแล้วครั้นเมื่อล่วงมาถึงปัจจุบันบ้านเมืองยิ่งเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าการปกครองอย่างเก่านั้นก็ยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกทีจึงได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับเวลาที่เป็นการเจริญแก่บ้านเมือง......"

ประกอบด้วยในรัชกาลของพระองค์นั้นเป็นระยะเวลาที่ลัทธิจักรวรรดินิยมกำลังแผ่ขยายมาทาง ตะวันออกไกล ด้วยนโยบาย Colonial agrandisement ประเทศมหาอำนาจตะวันตกเช่นอังกฤษและ ฝรั่งเศสได้ประเทศข้างเคียงรอบๆ ไทยเป็นเมืองขึ้น และทั้งสองประเทศยังมุ่งแสวงหาผลประโยน์จากประเทศไทยดังเช่นที่ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสที่ไทยยังไม่มีระบบการปกครองที่ดี และรักษาอาณาเขตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้อ้างวิธีการสำรวจทางวิชาการซึ่งเรียกว่า "Scientific expedition" เป็นเครื่องมือโดยอาศัยปัญหาเรื่องชายแดนเป็นเหตุ กล่าวคือ เมื่อฝรั่งเศสได้ดินแดนญวน แล้วได้ตั้งเจ้าหน้าที่ของตนออกเดินสำรวจพลเมืองและเขตแดนว่ามีอาณาเขตแน่นอนเพียงใด และเนื่องจากเขตแดนระหว่างประเทศไทย มิได้กำหนดไว้อย่างแน่นนอนรัดกุม จึงเป็นการง่ายที่พวกสำรวจเหล่านั้นจะได้ถือโอกาสผนวกดินแดนของไทยเข้าไปกับฝ่ายตนมากขึ้นทุกที ด้วยเหตุดังกล่าวประเทศไทย จึงจำเป็นต้องปรับปรุงการปกครองบ้าน เมืองให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว

มูลเหตุอีกประการหนึ่งของการปรับปรุงการปกครองก็คือ พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในอันที่จะยกเลิกขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นการกดขี่กันหรือก่อให้เกิดความอยุติธรรมแก่อาณาประชาราษฎรซึ่งมีอยู่นั้นเสีย ขนบธรรมเนียมดังกล่าวได้แก่การมีทาสการใช้จารีตนครบาลในการพิจารณาความพระราชประสงค์ของพระองค์ในเรื่องนี้ ปรากฏในพระราชปรารภว่าด้วยเรื่องทาสและเกษียณอายุตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ามีความปรารถนาว่าการสิ่งไรซึ่งเป็นการเจริญมีคุณแก่ราษฎรควรจะเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยตามกาลเวลา การสิ่งไรที่เป็นธรรมเนียมบ้านเมืองมาแต่โบราณแต่ไม่เป็นยุติธรรมก็อยากจะเลิกถอนเสีย"



นอกจากนี้พระราชประสงค์ของพระบาทสทเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในอันที่จะทรงนำเอาสิ่งใหม่ ๆ มาใช้ในการปกครองประเทศ เช่น ได้ทรงจัดตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Councilof state) ประกอบด้วยเหล่าสมาชิกตั้งแต่ 10 - 20 นาย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประธานสภาและได้ทรงจัดตั้ง สภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy council)ประกอบด้วยจำนวนสมาชิกสุดแต่พระประสงค์ซึ่งต่อมาใน ปีร.ศ. 113 ได้ทรงยกเลิกสภาที่ปรึกษาและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีสภาขึ้นแทน อันประกอบด้วยเสนาบดีหรือผู้แทน ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอีกไม่น้อยกว่า 12 คน อนึ่งการเริ่มให้มีการปกครองท้องถิ่นก็เป็นมูลเหตุสำคัญกับผู้ที่ประการหนึ่งที่ทำให้มีการปรับปรุงการปกครองในรัชสมัยของพระองค์

เนื่องจากในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีฝรั่งชาติตะวันตกหลายชาติเข้ามาทำหนังสือสัญญาพระราชไมตรีกับประเทศไทยหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นได้ยอมให้ฝรั่งมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ ยอมให้ฝรั่งตั้งศาลขึ้นเรียกว่าศาลกงศุลขึ้นพิจารณาความของคนในบังคับของตนได้อันเป็นการไม่ยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาของกฏหมายไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากว่าฝรั่งถือว่ากฏหมายและวิธีพิจารณาความของประเทศไทยยังไม่มีระเบียบแบบแผนดีพอการที่ฝรั่งต่างประเทศมีศาลกงศุลพิจารณาความของคนในบังคับของตนนั้น ทำให้ประเทศไทย มีความยุ่งยากทางการปกครองเกิดขึ้นเสมอ จึงทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงการศาลยุติธรรมและกฏหมายของประเทศให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นที่เชื่อถือแก่ต่างประเทศเพื่อขจัดความยุ่ง
ยากอันเกิดจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จึงได้มีการปรับปรุงด้านตุลาการครั้งใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ด้วย

นอกจากนี้มีผู้รู้ คือ วรเดช จันทรศร ได้สรุปถึงปัญหาที่สยามประเทศเผชิญอยู่ในขณะนั้นที่เป็นเงื่อนไขความจำเป็นที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่รวม 7 ประการ ได้แก่

1. ปัญหาความล้าหลังของระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีรูปแบบของการจัดที่ทำให้เอกภาพของชาติตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคงระบบบริหารล้าสมัยขาดประสิทธิภาพมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและสับสนการควบคุมและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่สามารถทำได้ทำให้ความมั่นคงของประเทศอยู่ในอันตรายและยังเปิดโอกาสให้จักรรดิ์นิมยตะวันตกสามารถเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย
2. ระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากรและการคลังของสมายประเทศ มิได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองและเสริมสร้างพระราชอำนาจให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากขาดหน่วยงานกลางที่ จะควบคุมดูแลการจัดเก็บรักษาและใช้เงินรายได้แผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเจ้าพนักงานขุนนางผู้ดูแลการจัดเก็บภาษีรัฐ และเจ้าภาษีนายอากร ให้อยู่ในระเบียบกฏเกณฑ์ได้
3. การควบคุมกำลังคนในระบบไพร่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ไพร่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง เพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เกิดความไม่มั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ เกิดการขาดเอกภาพในชาติทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความล้าหลังไพร่ไม่สามารถสะสมทางเศรษฐกิจทั้งนี้ เพราะผลเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนี้การฉ้อราษฎร์บังหลวงของมูลนาย ยังเป็นการทำลายผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และเกิดความเสียหายต่อสยามโดยรวม
4. ปัญหาการมีทาส ก่อให้เกิดการกดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นเครื่องชี้ความป่าเถื่อน ล้าหลังของบ้านเมืองที่มีอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศต่างชาติอาจใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงของลัทธิล่าอาณานิคมที่จะสร้างความศิวิไลซ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชาติด้อยพัฒนาในแง่เศรษฐกิจระบบทาสของสยามเป็นระบบใช้แรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการเป็นการพัฒนาคุณภาพกำลังคนในชาติ
5. ระบบทหารของสยามประเทศเป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันผลประโยชน์ และเกียรติของชาติไว้ได้เป็นระบบที่ยึดถือแรงงานของไพร่เป็นหลักในการป้องกันพระราชอาณาจักรทำให้การควบคุมประชาชนในประเทศถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์และเอกภาพของชาติตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง ทำให้กองทัพขาดเอกภาพขาดระเบียบวินัยอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมรบไม่อำนวยให้เกิดการฝึกหัดที่ดีและการเรียกระดมเข้าประจำกองทัพล่าช้าทำให้ไม่ทราบจำนวนไพร่พลที่แน่นอน
6. ปัญหาข้อบกพร่องของระบบกฏหมาย และการศาลที่ล้าสมัยแตกต่างจากอารยะประเทศไม่เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับคนในชาติและชาวต่างชาติบทลงโทษรุนแรงทารุณการพิจารณา ล่าช้าคดีคั่งค้างไม่สามารถรองรับความเจริญทางการค้าพาณิชย์และสภาพสังคม ได้มีหน่วยงานในการพิจารณาคดีมากเกินไปเกิดความล่าช้าสังกัดของศาลแยกไปอยู่หลายกรมเกิดความล่าช้าและไม่ยุติธรรมระบบการรับสินบนฝังรากลึกมา แต่ในอดีตปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สยามถูกกดดันทำให้เกิดความยากลำบากในการปกครอง
และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
7. ปัญหาด้านการศึกษาสยามประเทศก่อนปฏิรูปยังไม่มีระบบการศึกษาสมัยใหม่ไม่มีหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยตรงการศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะราชวงศ์ขุนนางชั้นสูงเกิดความไม่ยุติธรรม ทำให้โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ลางเลือน ประเทศขาดคนที่มีคุณภาพเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศขาดพลังที่จะช่วยรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยอีกทั้งยังทำให้ต่างชาติดูถูกสยามประเทศว่ามีความป่าเถื่อน ล้าหลัง



การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลาง



การปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลางได้จัดแบ่งหน่วยงานออกเป็นกระทรวงต่าง ๆ ตามลักษณะเฉพาะ เพื่อให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางซึ่งมีมาแต่เดิมนับตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มหาดไทย กลาโหม เมือง วัง คลัง นาอันได้ใช้เป็นระเบียบปกครองประเทศไทยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เหตุแห่งการปฏิรูปการปกครอง และระเบียบราชการส่วนกลางในรัชการนี้ ก็เนื่องจากองค์การแห่งการบริการส่วนกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติราชการให้ได้ผลดีและความเจริญของประเทศและจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นข้าราชการเพิ่มขึ้น แต่องค์การแห่งราชการบริหารส่วนกลางยังคงมีอยู่เช่นเดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ทรงตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นโดยได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้กระทรวงแบบใหม่ และผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างๆขึ้นโดยได้จัดสรรให้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ดังนี้ คือ

1) กระทรวงมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวประเทศราช (ในช่วงแรก) แต่ต่อมาได้มีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งหมดที่มีให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย

2) กระทรวงกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกตะวันออกและเมืองมลายูประเทศราชเมื่อมีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้วกระทรวงกลาโหม จึงบังคับบัญชาฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียวทั่วพระราชอาณาเขต

3) กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) มีหน้าที่ด้านการต่างประเทศ

4) กระทรวงวัง ว่าการในพระราชวัง

5) กระทรวงเมือง (นครบาล) การโปลิศและการบัญชีคน คือ กรมพระสุรัสวดีและรักษาคนโทษ

6) กระทรวงเกษตราธิการ ว่าการเพาะปลูกและการค้า ป่าไม้ เหมืองแร่

7) กระทรวงพระคลัง ดูแลเรื่องเงิน รายได้ รายจ่ายของแผ่นดิน

8) กระทรวงยุติธรรม จัดการเรื่องศาลซึ่งเคยกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ นำมาไว้ที่แห่ง
เดียวกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน

9) กระทรวงยุทธนาธิการ ตรวจตราจัดการในกรมทหารบก ทหารเรือ


10) กระทรวงธรรมการ จัดการเกี่ยวกับการศึกษา การรักษาพยาบาล และอุปถัมภ์คณะสงฆ์

11) กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง การช่าง การไปรษณีย์โทรเลข การรถไฟ

12) กระทรวงมุรธาธิการ มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฏหมายและ
หนังสือราชการทั้งปวง

เมื่อได้ประกาศปรับปรุงกระทรวงใหม่เสร็จเรียบร้อยจึงได้ประกาศตั้งเสนาบดีและให้เลิกอัครเสนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม กับตำแหน่งจตุสดมภ์ให้เสนาบดีทุกตำแหน่งเสมอกันและรวมกันเป็นที่ประชุมเสนาบดีสภา หรือเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา ต่อจากนั้นได้ยุบรวม กระทรวงและปรับปรุงใหม่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงต่าง ๆ ยังคงมีเหลืออยู่ 10 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงวัง กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงธรรมการ ในด้านการทะนุบำรุงบ้านเมือง พระองค์ได้ทรงจัดการบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมากอาทิเช่น
1. การทหาร ทรงพระราชดำริเห็นว่าการเป็นทหารเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติ เพราะทหารเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศ จึงได้โปรดให้จัดการทหารตามแบบแผนและฝึกหัดตามยุทธวินัยชาวยุโรป ได้ส่งพระราชโอรสออกไปศึกษาวิชาทหารในทวีปยุโรปเพื่อนำเอาความรู้มาใช้ในบ้านเมืองเรา และจัดการทหารบก ทหารเรือขึ้น
2. การตำรวจนครบาล ได้จัดตั้งตำรวจภูธรตามหัวเมืองต่างๆเพื่อตรวจตราปราบปรามโจรผู้ร้ายได้ทั่วถึง
3. การคลัง ในการเก็บภาษีอากรได้จัดการวางแบบแผนใหม่เพื่อป้องกันความรั่วไหลได้เงินไม่เต็มตามจำนวนที่ควรจะได้โดยปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของบุคคลจึงวางระเบียบการเก็บภาษีอากรใหม่โดยรัฐบาล เป็นผู้จัดการเก็บเองโดยตรงแต่นั้นมารายได้ของแผ่นดินก็เพิ่มพูทวีจำนวนยิ่งขึ้นได้ โปรดให้กระทรวงการคลังพิมพ์ธนบัตรใช้เพื่อสะดวกแก่การส่งไปมาถึงกันและปลอดภัยขึ้นมาก
ในด้านการบำรุงความสุขของพลเมืองได้ทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อดูแลจัดการตั้งโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่ง เช่นโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลโรคจิตและโรงเลี้ยงเด็ก นอกจากนี้ได้ส่งแพทย์ออกเที่ยวปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษและบำบัดอหิวาตกโรค พ.ศ. 2455 เริ่มสร้างการประปาขึ้น แต่มาเปิดใช้ในรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2475) พ.ศ.2447 โปรดให้ตั้งหอสมุดวชิรญาณขึ้นที่จังหวัดพระนคร ขึ้นตรงต่อราชบัณฑิตยสภา โดยรวมหอพระมณเฑียรธรรมและหอพระพุทธสังคหะเข้ากับหอสมุดวชิรญาณ
4. การคมนาคม ได้ปรับปรุงโดยใน พ.ศ. 2434 ทรงจัดสร้างทางรถไฟ เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนในการไปค้าขายและการคมนาคมติดต่อ โดยเสด็จไปเปิดทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และได้ทรงเปิดทางครั้งแรกใน พ.ศ.2439 ระหว่างกรุงเทพฯ กับอยุธยา ทางสายนี้ได้เปิดใช้ในพ.ศ.2456 พ.ศ.2424 ได้โปรดจัดการไปรษณีย์เป็นครั้งแรกและโปรดให้ตั้งเป็นกรมขึ้นใน พ.ศ.2426 ต่อมาได้ขยายการไปรษณีย์โทรเลขออกไปตามหัวเมืองต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนในการส่งข่าวคราวถึงกัน
5. การศึกษา ได้ส่งเสริมการศึกษาอย่างกว้างขวางและแพร่หลายที่สุดเริ่มด้วยการตั้งโรงเรียน หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังสอนหนังสือให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และบุตรหลานข้าราชการแล้วจัดขยายไปถึงราษฎร์ โดยจัดตั้งโรงเรียนที่วัดมหรรพารามเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2435 ได้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นและจัดการศึกษาของประเทศ ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเปิดการสอนและเพิ่มสถานศึกษาแก่ประชาชนให้กว้างขวาง พยายามจัดส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อนำความรู้และวิทยาการอันทันสมัยมาเผยแพร่เพื่อสร้างชาติให้ทันสมัย



การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

ด้วยเหตุที่มีการรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองซึ่งเคยแยกกันอยู่ใน 3 กรม คือ มหาดไทยกลาโหมและกรมท่า ให้มารวมกันอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว การปฏิรูปหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคจึงมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทน (field) หรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลกลาง โดยส่วนรวมทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษระการปกครองแบบเมืองหลวง เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก เมืองพระยามหานครและเมืองประเทศราชเดิม เพื่อให้ลักษณะการปกครองเปลี่ยนแปลงแบบราชอาณาจักรโดยการจัดระเบียบการปกครองให้มีลักษณะลดหลั่นตามระดับสายการบังคับบัญชาหน่วยเหนือลงไปจนถึงหน่วยงานชั้นรอง ตามลำดับดังนี้
1. การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล โดยการรวมหัวเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑลตามสภาพภูมิประเทศและความสะดวกแก่การปกครอง มีสมุหเทศาภิบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเลือกสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามรถสูงและเป็นที่วางพระราชหฤทัยแต่งตั้งให้ไปบริหารราชการต่างพระเนตรพระกรรณ
2. การจัดรูปการปกครองเมือง มีการปกครองใช้ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดหน่วยบริหารที่ชื่อว่า "เมือง" ใหม่โดยให้รวมท้องที่หลายอำเภอเป็นหัวเมืองหนึ่งและกำหนดให้มีพนักงานปกครองเมืองแต่ละเมือง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาเมือง และมีคณะกรรมการเมือง 2 คณะ คือ กรมการในทำเนียบและกรมการนอกทำเนียบเป็นผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำพระมหากษัตริย์ทรงเลือกสรรและโยกย้ายผู้ว่าราชการเมือง
3. การจัดการปกครองอำเภอ อำเภอเป็นหน่วยบริหารราชการระดับถัดจากเมืองเป็นหน่วยปฏิบัติราชการหน่วยสุดท้ายของรัฐที่จะเป็นผู้บริการราชการในท้องที่ และให้บริการแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลกลางเป็นหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมท้องที่หลายตำบลเข้าด้วยกัน มีกรมการอำเภอซึ่งประกอบด้วยนายอำเภอปลัดอำเภอ และสมุหบัญชีอำเภอร่วมกันรับผิดชอบในราชการของอำเภอ โดยนายอำเภอเป็นหัวหน้า ทั้งนี้การแต่งตั้งโยกย้ายนายอำเภอ เป็นอำนาจของข้าหลวงเทศาภิบาลสำหรับตำแหน่งลำดับรอง ๆ ลงไปซึ่งได้แก่ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ และเสมียนพนักงาน ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหากท้องที่อำเภอใดกว้างขวางยากแก่การที่กรมการอำเภอจะไปตรวจตราให้ทั่วถึงได้และท้องที่นั้นยังมีผู้คนไม่มากพอที่จะยกฐานะเป็นอำเภอหรือกรณีที่ท้องที่ของอำเภอมีชุมชนที่อยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอก็ให้แบ่งท้องที่ออกเป็น กิ่งอำเภอ เพื่อให้มีพนักงานปกครองดูแลได้แต่กิ่งอำเภอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอและอยู่ในกำกับดูแลของกรมการอำเภอ
4. การจัดรูปการปกครองตำบลหมู่บ้าน อำเภอแต่ละอำเภอมีการแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นหลายตำบลและตำบลก็ยังซอยพื้นที่ออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองสุดท้ายที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดการปกครองระดับนี้มุ่งหมายที่จะให้ราษฎรในพื้นที่ เลือกสรรบุคคลขึ้นทำหน้าที่เป็นธุระในการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเป็นทั้งตัวแทนประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน คือ เป็นผู้ประสานงานช่วยเหลืออำเภอ และเป็นตัวแทนของรัฐสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎร์ ตลอดจนช่วยเก็บภาษีอากรบางอย่างให้รัฐ

การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น



การปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มต้นจากการปฏิรูปการปกครองในส่วนกลางก่อนจากนั้นจึงปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคภายใต้ระบบเทศาภิบาลโดยเริ่มดำเนินการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลตามแบบแผนใหม่ 3 มณฑลแรก (มณฑล พิษณุโลก ปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา) ในปี พ.ศ.2437 และได้ใช้เวลารวม 13 ปี จึงจัดระบบ การปกครองแบบเทศาภิบาลได้ทั่วประเทศในปี พ.ศ.2450 ในระหว่างที่ดำเนินการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค ดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นจากต่างประเทศมาดำเนินการโดยริเริ่มทดลองให้มีการจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯ และการสุขาภิบาลหัวเมือง รายละเอียดดังนี้
1. การจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มให้จัดการบำรุงท้องถิ่นแบบสุขาภิบาล ขึ้นในกรุงเทพ อันเป็นอิทธิพลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอกาสไปดู กิจการต่าง ๆ ในยุโรป และเนื่องจากเจ้าพระยาอภัยราชา(โรลังยัคมินส์) ติเตียนว่ากรุงเทพฯสกปรกที่รักษาราชการทั่วไปของประเทศในขณะนั้นได้กราบทูลกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าชาวต่างประเทศมักติเตียนว่ากรุงเทพฯสกปรกไม่มีถนนหนทางสมควรแก่ฐานะเป็นเมืองหลวงพระองค์ จึงโปรดเกล้าให้จัดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ขึ้นโดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 ออกใช้บังคับการจัด การดำเนินงานเป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล การบริหารกิจการในท้องที่ของสุขาภิบาลพระราชกำหนดได้กำหนดให้มี การประชุมปรึกษากันเป็นคราว ๆ

หน้าที่ของสุขาภิบาลกรุงเทพฯ มีดังนี้

1. หน้าที่ในการทำลายขยะมูลฝอย

2. หน้าที่ในการจัดให้มีส้วมสำหรับมหาชนทั่วไป

3. หน้าที่ในการควบคุมอาคาร สิ่งปลูกสร้าง

4. หน้าที่ในการย้ายสิ่งโสโครกและสิ่งก่อความรำคาญแก่ประชาชน

2. การจัดการสุขาภิบาลหัวเมือง
เนื่องจากการจัดการสุขาภิบาลขึ้นที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นประโชน์ต่อท้องถิ่นเป็นอันมากทั้งยังได้รับความนิยมจากประชาชนด้วยจึงทรงมีพระราชดำริเห็นสมควรที่จะขยายกิจการสุขาภิบาลให้แพร่หลายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ แต่ทรงเห็นว่าท้องที่ที่จะจัดให้มีสุขาภิบาลตามหัวเมืองต่างๆ ย่อมแตกต่างกันไม่เหมาะที่จะใช้ระเบียบสุขาภิบาลแบบเดียวกัน โปรดเกล้าให้จัดสุขาภิบาล จึงได้ตามหัวเมือง ร.ศ.127 ขึ้นพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับทั่วราชอาณาจักรเมื่อสมควรจะจัดการสุขาภิบาลขึ้นในท้องที่ใดก็จะได้ประกาศจัดการสุขาภิบาลท้องที่นั้น และใช้พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามที่ หัวเมือง ร.ศ.127 บังคับ



ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้รับหน้าที่ในด้านการอนามัยและการศึกษาขั้นต้นของราษฎร จึงได้คิดแยกเป็น "กรมการตำบล" แต่เพื่อให้ข้าหลวง เทศาภิบาลทดลองนำไปจัดปรากฏว่าผลดีเฉพาะในการศึกษาของราษฎรจึงได้แก้ไขประราชบัญญัติดังกล่าวได้แบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ชนิดคือสุขาภิบาลเมืองและสุขาภิบาลตำบลและสุขาภิบาลแต่ละชนิดมีหน้าที่

1. รักษาความสะอาดในท้องที่

2. การป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่

3. การบำรุงและรักษาทางไปมาในท้องที่

4. การศึกษาขึ้นต้นของราษฎร
พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับได้ใชอยู่จนกระทั่งหมดสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองของประเทศและสุขาภิบาลเริ่มประสบปัญหาต่างๆ จึงทำให้การทำงานของสุขาภิบาลหยุดชะงักและเฉื่อยลงตามลำดับ จวบจนถึงการเปลี่ยแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 คณะราษฎรมุ่งหวังที่จะสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย จึงตราพระราชบัญญัติการจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เพื่อส่งเสริมให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลอย่างกว้างขวาง



การปกครองระบอบประชาธิปไตย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย หลังจากเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาแล้ว ได้ทรงมีพระราชดำริหารือที่ปรึกษาเกี่ยวกับการที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทย และที่ปรึกษาได้เสนอความเห็นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นควรจัดให้มีการศึกษาเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องดังกล่าวแก่ประชาชน โดยเฉพาะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิฉะนั้นผลที่ได้จากการพระราชทานรัฐธรรมนูญก็จะไม่เป็นไปตามพระราชปณิธานที่ตั้งไว้แต่เดิม





การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน2475ทำให้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสิ้นสุดลงในระยะ2-3 วันแรก คณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารซึ่งประกอบด้วยพันเอกพระยาพหล พลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลายไม่ใช่เป็นของพระมหากษัตริย์แต่พระองค์เดียว การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังนี้ คือ 1. พระมหากษัตริย์ 2.สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล กล่าวคือพระมหกษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรอำนาจบริการร่วมกับคณะกรรมการราษฎรและทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล ระบอบการปกครองตามแบบกฏหมายฉบับนี้คล้ายกับระบบปกครองโดยรัฐสภา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการราษฎรที่จะจะควบคุมการบริหารซึ่งคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้ และมีอำนาจที่จะถอนกรรมการราษฎรออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญนี้สถาบันทางการเมือง คือ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎร



ลักษณะการปกครองตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว

แม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศเป็นสถาบันที่ถาวร และมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ ตามธรรมนูญนี้ได้บัญญัติว่าการสืบราชสมบัติ ให้เป็นไปตามกฏมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อใช้พระราชบัญญัตินี้แล้วอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกจำกัดลงการปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้สถาบันที่เกิดใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฏหมายต่างๆซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้ว
จึงมีผลบังคับได้ นอกจากนี้สภาผู้แทนยังมีอำนาจควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ซึ่งเท่ากับมีอำนาจการบริหารอย่างเต็มที่สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาตามกาลสมัย ดังนี้

สมัยที่ 1 นับแต่วันใช้ธรรมนูญการปกครองจนถึงวันที่สมาชิกสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่งคณะราษฎร์ ซึ่งมีผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนแต่งตั้ง ผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นจำนวน 7 นาย ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สมัยที่ 2 ภายในเวลา 6 เดือนหรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติสมาชิกรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทรวมกัน คือ (1) ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น (2) ได้แก่ สมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งอยู่แล้วในสมัยที่ 1 มีจำนวนเท่ากับประเภทที่ 1 แต่ถ้าเกินจำนวน ประเภทที่ 1 ก็ให้เลือกเอาว่าผู้ใดจะเป็นต่อ ถ้าขาดให้สมาชิกประเภทที่ 1 เลือกบุคคลเพิ่มขึ้นจนครบ

สมัยที่ 3 เมื่อราษฎรทั่วราชอาณาจักรสอบไล่ชั้นประถมศึกษา ได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งแต่อย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันใช้ธรรมนูณการปกครองสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นประเภทเดียวไม่มีประเภท 2 เมื่อใช้ธรรมนูญการปกครองแล้วได้มีการตั้งสมาชิกสมัยที่ 1 ขึ้น ต่อมาก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสมัยที่ 2 โดยให้ราษฎรมีคุณสมบัติเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้น แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกสมาชิกอีกขั้นหนึ่ง ฉะนั้นจึงเป็นการเลือกทั้ง 2 ขึ้นเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ราษฎรยังมิได้เลือกผู้แทนโดยตรง แต่ธรรมนูญนี้มิได้ใช้จนถึงสมัยที่ 3 เพราะได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ
ถาวร เมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ระบอบการปกครองตามพระราชบัญญัติการปกครองชั่วคราว จึงเป็นอันสิ้นสุดลงคณะกรรมการราษฎรนี้ สภาผู้แทนเลือกตั้งจากสมาชิกของสภาทั้งสิ้น และอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของสภาผู้แทนที่ได้รับเลือก ตั้งแต่มิได้มีส่วนเข้าไปว่าราชการตามกระทรวงต่าง ๆ ด้วยเพราะกระทรวงต่าง ๆ ยังคงมีเสนาบดีเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช การตั้งและถอดถอนเสนาบดีนั้นเป็นพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ แต่จะทรงใช้ได้โดยคำแนะนำของกรรมการราษฎรเท่านั้นเสนาบดีเป็นตำแหน่งข้าราชการประจำไม่ใช่การเมือง และคณะกรรมการราษฎรก็ยังไม่มีฐานะเป็น
ข้าราชการการเมือง เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาผู้แทนที่ทำหน้าที่ควบคุมการบริหารแทนสภาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสภาผู้แทน จึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองสำหรับการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว การพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฏหมายได้ตามเดิม


ลักษณะการปกครองตามธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475

ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรซึ่งมีหลักการต่างจากฉบับแรกในสาระสำคัญหลายประการ เช่น

1. ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา (Parliamentary system) ทั้งนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุข แห่งรัฐไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดินแต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนซึ่งมีอำนาจที่จะลงมติให้ความไว้วางใจหรือไม่ให้ความไว้วางใจอันเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่งได้การปกครองตามระบบรัฐสภาควบคุมนี้ รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายของนิติบัญญัติ คือ ออกกฏหมายเท่านั้น แต่ว่ามีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย

2. เนื่องจากได้ใช้ระบบรัฐสภาควบคุมการบริการรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 จึงได้วางหลักให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีอำนาจควบคุมกัน กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติแม้จะมีอำนาจควบคุมคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารก็ตามแต่คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจยุบสภาผู้แทนได้เมื่อเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะ เป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาของตนที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่

3.ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้นตามรัฐธรรมนูญนี้ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ซึ่งหมายความว่าผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ไม่ว่าด้วยประการใด และพระมหากษัตริย์ไม่ทรงรับผิดชอบทางการเมือง แต่ตามพระราชบัญญัติการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวยังให้อำนาจสภาผู้แทนที่จะวินิจฉัยได้เมื่อพระมหากษัตริย์มีกรณีที่ถูกฟ้องร้อง โดยได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะถูกฟ้องคดีอาญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาจะวินิจฉัยแต่ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2475 ทั้งศาล และสภาผู้แทนไม่มีอำนาจวินิจฉัยการกระทำของพระมหากษัตริย์ซึ่งได้รับความคุ้มกันที่จะไม่ถูกฟ้องร้องด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น

4. ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาฯไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนักแต่ส่วนประกอบของสภาผู้แทนได้บัญญัติไว้เพียง 2 สมัย คือ
-สมัยที่1 นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติการปกครองสยามชั่วคราว 2475 สภาประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทเท่ากันคือ ประเภท1 ราษฎรเลือกตั้ง ประเภทที่ 2 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและมิได้ห้ามการตั้งสมาชิกประเภท 2 จากข้าราชการประจำ
-สมัยที่2 เมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกมีการศึกษาจบชั้นประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดหรืออย่างช้าไม่เกิน10ปีนับแต่วัยใช้พระราชบัญญัติการปกครองสยามชั่วคราว สภาจะประกอบด้วยสมาชิกประเภทเดียวแต่เรื่องนี้ต่อมาได้มีรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พ.ศ. 2485 ได้ขยายเวลาของสมัยที่ 2 นี้ออกเป็น 20 ปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัติการปกครองสยามชั่วคราว

5. ด้านบริหารให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรีที่ทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจะรับผิดชอบเป็นส่วนรวมต่อสภาฯ และเป็นการเฉพะตัวสำหรับรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ว่าการกระทรวงแต่ก็มิใช่อยู่ที่สภาแต่งตั่งเหมือนคณะกรรมการราษฎรและมิได้มีอำนาจถอดถอนได้นอกจากลงมติไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องลาออกนอกจากนี้ยังให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้อำนาจบริหารในนามของพระมหากษัตริย์ และมีอำนาจปกครองประเทศด้วยโดยได้เลิกตำแหน่งเสนาบดีทั้งหมดและตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงขึ้นแทน


การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ที่บังคับใช้เป็นกฏหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แทนพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มิได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดระเบียบราชการบริหารที่ยังคงจัดโครงสร้างหลักของการจัดระเบียบการบริหารราชการเป็นส่วนกลาง - ส่วนภูมิภาค - ส่วนท้องถิ่น เช่นเดิมโครง สร้าง กระทรวง ทบวง กรม ยังคงสภาพเดิมการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการของระบบ บริหารราชการ จึงยังไม่บังเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

การจัดระเบียบบริหารราชการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 จึงยังไม่สามารถตอบสนองภารกิจ และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาที่รัฐต้องเผชิญเพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพรัฐบาลภายใต้การนำ ของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินความพยายามในการปรับปรุงแก้ไข โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบและโครงสร้างของส่วนราชการ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อพิจารณาดำเนินการศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งคณะกรรมการได้เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของระบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยกำหนดความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างราชการส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค-ส่วนท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นของตนได้เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนรวมทั้งได้มีการเสนอให้มีการปรับปรุงในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการในแต่ละส่วนด้วย

นอกจากนี้นักวิชาการหลายท่านได้ทำการศึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบราชการที่น่าสนใจ อาทิเช่น

กระมล ทองธรรมชาติ ศึกษาพบว่ามีปัญหาความซ้ำซ้อนกันภายในโครงสร้างของระบบบริหารราชการระหว่างกระทรวง แม้ภายในกระทรวงเดียวกันหรือกรมเดียวกันก็มีปัญหา (แม้ว่ารัชกาล ที่ 5 จะทรงปฏิบัติระบบราชการเพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในด้านพื้นที่และหน้าที่)

ทั้งนี้ ถ้าจะทำการปฏิรูปต้องปฏิรูปที่โครงสร้างทั้งหมดทั้งโครงสร้างระหว่างกระทรวงโครงสร้างภายในกระทรวงและโครงสร้างภายในกรม

เช่นเดียวกับการศึกษาของวรเดช จันทรศร ที่ศึกษาพบว่านับแต่มีการปฏิรูประบบราชการในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2435 เป็นต้นมาระบบราชการยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งระบบอีกเลย การเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหน่วยงาน (เพิ่มกรม/กอง) โดยที่ระบบราชการไทยนั้น มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นเพื่อจะสนองตอบต่อผลประโยชน์ของตนเองส่วนหนึ่งในขณะเดียวกันนั้นก็เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศควบคู่กันไปด้วย
จากปี พ.ศ.2476 ซึ่งมีจำนวนกรม 45 กรมขยายเป็น 102กรม ในปี 2512 และมากกว่า120 กรมในปี2534 และมีกองถึงกว่า1,300 กองนอกจากนี้การจัดตั้งกรม /กอง ขึ้นใหม่ มีลักษณะเป็นการตั้งขึ้นใหม่จากหน้าที่ซึ่งมีอยู่แล้วมากกว่าตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ใหม่ซึ่งไม่เคยปฏิบัติมาก่อนแต่เป็นงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรม/กระทรวงอื่นอยู่ แล้ว งานจึงซ้ำซ้อนกัน

ประเวศ วะศีได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของระบบราชการไทยว่ามีโครงสร้างที่เน้นการรวบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไปทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดในการดำเนินงานได้ รวมทั้งระบบราชการเน้นในเรื่องการควบคุมงานภายในรูปของระเบียบต่าง ๆ มากกว่าหน้าที่ผลงาน จึงควรปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการเสียใหม่โดยลดอำนาจข้าราชการและคืนอำนาจตัดสินใจให้ประชาชน

อมรา รักษาสัตย์ และถวัลย์ วรเทพพุฒิพงษ์และคณะ ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบของราชการ ด้านการจัดองค์การพบว่า การจัดองค์การราชการก่อให้เกิดปัญหาสำคัญคือโครงสร้างระบบราชการขาดความยืดหยุ่นไม่สามารถ รับภารกิจรัฐบาลในสังคมใหม่ได้โครงสร้างอำนาจการตัดสินใจมีลักษณะรวมอำนาจไว้ในส่วนกลางกระทรวงขาดเอกภาพในการบริหารงาน ไม่สามารถผนึกกำลังของกรม เพื่อแก้ปัญหาหลักของชาติ

ข้อสรุปสำคัญจากการประเมินผลการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่5 (พ.ศ.2525-2529)ที่กล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการ ที่นอกจากจะไม่สนับสนุนการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6(พ.ศ.2530 - 2534) จึงได้เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นต้องการปรับปรุงการบริหารและทบทวนบทบาทรัฐในการพัฒนาประเทศ

ดังนั้น เมื่อมีการยึดอำนาจจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) เมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ 2534 จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศของคณะปฏิวัติในฉบับที่ 218โดยการเสนอพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534 ใช้บังคับแทนเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2534ซึ่งมีเจตนารมย์ที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญๆของประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ 218 เดิมใน 4 ประการ ที่สำคัญคือ

1) จำเป็นต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วรนราชการต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพื่อมิให้มีการปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกันระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ
2) เพื่อให้การบริหารงานในระดับกระทรวงมีเอกภาพสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐมนตรีกำหนดได้
3) เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการมอบอำนาจในการปฏิบัติราชการแทนให้ครบถ้วนชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติราชการ
4) กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการควบคุมดูแลการ ปฏิบัติราชการของข้าราชการซึ่งปฏิบัติราชการในเขตจังหวัดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จากเจตนารมณ์ ทั้ง 4 ประการจึงมีบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน พ.ศ.2534หลายประการที่เปลี่ยนแปลงไปจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ดังมีสาระสำคัญในแต่ละประเด็นดังนี้

1. การกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมจากปัญหาเกี่ยวกับการทำงานซ้ำซ้อนกัน ระหว่างต่างกระทรวงหรือภายในกระทรวงเดียวกันดังที่ได้มีผู้วิจัยและเสนอปัญหาไว้ อาทิเช่นมีหน่วยงานระดับกรมมากกว่ากรมที่ทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำหรืองาน ด้านการจัดการศึกษานอกโรงเรียนก็มีหน่วยงานระดับกรมมากกว่า กรม ที่ดูแลเรื่องดังกล่าว ดังนี้จึงมีบทบัญญัติไว้ดังนี้

"มาตรา 8 การจัดตั้งหรือยุบส่วนราชการ ตามมาตรา 7 ให้เป็นพระราชบัญญัติ.........................................................................................................................
.....................................................................................................................................


การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักเลขานุการรัฐมนตรีกรมหรือ ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้ระบุอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการไว้ในพระราชกฤษฎีกาด้วย"

"มาตรา 74 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการภายในสำนักเลขานุการรัฐมนตรีและกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเทียบเท่ากับหรือมีฐานะเป็นกรมใดยังมิได้ระบุอำนาจหน้าที่ไว้ตามมาตรา 8 วรรคสี่ ให้ดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ"

2. การเสริมสร้างเอกภาพในการบริหารงานระดับกระทรวง
ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานระดับกระทรวง ขาดเอกภาพในการบริหารงาน ไม่สามารถผนึกกำลังของกรมเพื่อแก้ไขปัญหาหลักของชาติ จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไข บทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงและกรมให้เกิดการร่วมมือและผนึกกำลังกันโดยใช้แผนเป็นเครื่องมือทั้งในระดับกระทรวงและกรม ตามบทบัญญัติใน มาตรา 21มาตรา 23 มาตรา 32 ดังนี้

"มาตรา 21 กระทรวงนอกจากมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงให้มีปลัดกระทรวงคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) รับผิดชอบควบคุมราชการประจำ ในกระทรวงกำนดแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงและลำดับความสำคัญของแผนการปฏิบัติราชการประจำปี ของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบาย ที่รัฐมนตรีกำหนดรวมทั้งกำกับเร่งรัดติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง..................................."

"มาตรา 23 สำนักงานปรัดกระทรวงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวง และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงโดยเฉพาะรวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายแนวทาง และแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงด้วย"

"มาตรา 32 ...........................................................................................

กรมมีอธิบดีเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมให้เป็นไปตามนโยบายแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงและในกรณีที่มีกฏหมายอื่นกำหนดอำนาจหน้าที่ของอธิบดีไว้เป็นการเฉพาะ การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายดังกล่าวให้คำนึงถึงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและแนวทางและแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงด้วย"

3. การปรับปรุงเรื่องการมอบอำนาจ
เนื่องจากหลักเกณฑ์วิธีการมอบอำนาจที่กำหนดไว้ตาม ปว.218 เดิมมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการมอบอำนาจบางกรณีที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนจัดทำเป็นคำสั่ง ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและไม่สามารถมอบอำนาจช่วยต่อไปได้ จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการมอบอำนาจใหม่โดยให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนความ รวดเร็วในการปฏิบัติราชการ และการกระจายความรับผิดชอบตามสภาพของตำแหน่งของผู้รับมอบอำนาจตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 38 มาตรา 39และมาตรา 40 ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงใหม่ได้แก่

1) การเปลี่ยนแปลงวิธีการมอบอำนาจโดยกำหนดให้การมอบอำนาจทุกกรณีให้ทำเป็นหนังสือทั้งนี้ผู้มอบอำนาจสามารถมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ในมาตรา38 โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากผู้ใดและไม่ต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2) มีการเพิ่มตำแหน่งของผู้มอบอำนาจมากขึ้น โดยกำหนดเรื่องการมอบอำนาจของ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกอง (ในราชการบริหารส่วนกอง) และตำแหน่งหัวหน้า ส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ (ในราชการบริหาร - ส่วนภูมิภาค ) นอกจากนี้ยังกำหนดตำแหน่งผู้รับมอบอำนาจ เพิ่มมากขึ้นด้วย

3) กำหนดให้มีการมอบอำนาจช่วงต่อไปได้ กรณีผู้ดำรงตำแหน่งใดได้มอบอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถมอบอำนาจเรื่องนั้น ๆ ต่อไปยังรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดได้นอกจากนี้หากได้รับความเห็นชอบจาก ผู้มอบอำนาจข้างต้นแล้วก็สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นได้

4. การปรับปรุงอำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัด มีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่ตามมาตรา57 โดย กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการส่วนภูมิภาคใน จังหวัดโดยยกเว้นข้าราชการทหาร ตุลาการ อัยการ ครู ข้าราชการในมหาวิทยาลัย และ ข้าราชการของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนองบประมาณต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ตามโครงการหรือแผนพัฒนาจังหวัดและรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดให้องค์กรที่ทำหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาแก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดและให้ความเห็นชอบการจัดแผนพัฒนาจังหวัดคือ"คณะกรรมการจังหวัด" (มาตรา53) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานรองผู้ว่าราชการจังหวัด 1คนปลัดจังหวัดอัยการจังหวัดหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงต่างๆ กระทรวงละ 1 คนเป็นกรรมการจังหวัดโดยมีหัวหน้า สำนักงานจังหวัดเป็นกรมการจังหวัดและเลขานุการ

หากพิจารณาถึงสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตาม ปว.218 เป็น พ.ร.บ. ระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน 2534อาจสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงใน4ประเด็นหลักตามเจตนารมย์หลักของพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด ปลีกย่อยภายใต้โครงสร้างและกระบวนการบริหารงานดั้งเดิม ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางรากฐานไว้นับแต่เริ่มปฏิรูปการปกครองนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น