หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 : กฎหมายหลักที่ใช้ปกครองประเทศ

กฎหมายรัฐธรรมนูญ




ประเทศไทยแต่เดิมนั้น อำนาจในการปกครองแผ่นดินเป็นสิทธิขาดของพระมหากษัตริย์แต่พระองค์เดียว หรือที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้มีกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมารัฐธรรมนูญกลายเป็นหลักสำคัญในการปกครองประเทศ แม้จะมีการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายครั้งตามสภาวะการณ์ของบ้านเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน


ลักษณะทั่วไปของรัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศและถือเป็นแม่บทของกฎหมายต่างๆ ถ้ากฎหมาย ใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญกฎหมายนั้นจะใช้บังคับไม่ได้เมื่อกล่าวถึงรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวข้องกับเรื่องรูปแบบการปกครอง ประมุขของประเทศ อำนาจอธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ซึ่งจัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในระหว่าง พ.ศ. 2549-2550 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก หน้า 1 ในวันเดียวกันนั้น และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้เป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติร้อยละ 57.81 เห็นชอบ และร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ ประธาน สนช. จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
เนื่องจากในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศ การร่างจึงดำเนินไปบนความร้อนแรงทางการเมือง เผชิญหน้าทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่ต่อต้าน รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นขั้นตอนการร่าง อาทิ การขาดความมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากประชาชน การที่ คมช. ผูกขาดการสรรหาสมาชิก สสร. และในเนื้อหาสาระของร่าง อาทิ มีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาเกือบกึ่งหนึ่งของจำนวนมาจากการแต่งตั้ง รวมถึงการนิรโทษกรรม คมช. เองสำหรับการก่อรัฐประหาร


สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 นั้น ได้ดำเนินการใน 4 แนวทาง ได้แก่

1. การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
เพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพ และมีมาตรการคุ้มครองอย่างชัดเจน รวมทั้งทำให้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีความชัดเจนและผูกพันรัฐมากกว่าเดิม และปรับปรุงการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2. การลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
แต่เดิมนั้น รัฐหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป การตรวจสอบฝ่ายบริหารเป็นไปได้ยาก และมีการเข้าไปแทรกแซงการทำงานของระบบข้าราชการประจำ เช่น การแต่งตั้งโยคย้าย เลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงพยายามลดการแทรกแซงข้าราชการลง และให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเป็นไปได้ง่ายขึ้น
3. การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม
โดยการเพิ่มหมวด “คุณธรรม จริยธรรม” ขึ้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติในหมวดคุณธรรม จริยธรรม จะถือว่าเป็นความผิด ซึ่งหากเป็นข้าราชการก็จะเป็นความผิดทางวินัย หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีที่ร้ายแรงก็สามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ การกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งครอบคลุมถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย
นอกจากนี้ยังกำหนดให้การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. และ ส.ว. ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จะต้องเปิดเผยให้แก่สาธารณชนทราบ เช่นเดียวกับของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
4. การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบให้มีความเข้มแข็ง ไม่ถูกแทรกแซง และมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น อาทิ ปรับปรุงระบบการสรรหาองค์กรตรวจสอบเพื่อให้มีความอิสระ และเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร การจัดให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปรับปรุงอำนาจหน้าที่และระบบการทำงานขององค์กรตรวจสอบให้ดียิ่งขึ้น เช่น ให้ ส.ส. สามารถเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเพียง 1 ใน 5 และรัฐมนตรี 1 ใน 6 หรือเมื่อครบ 2 ปี เป็นต้น


สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในด้านต่าง ๆ
ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีการเขียนเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้ ค่อนข้างเหมือนสัญญาประชาคม คือ เป็นสัญญาที่รัฐต้องปฏิบัติต่อประชาชน ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นเสมือนสัญญาระหว่างประชาชนกับรัฐ โดยที่รัฐบอกว่าจะทำอะไรให้กับประชาชนในด้านต่าง ๆ
ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญในเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐจึงมีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการปฏิบัติ หรือผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยสาระสำคัญในหมวดต่าง ๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้


สาระทางเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญ


-การสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง มีมาตราเขียนไว้ชัดว่ารัฐจะต้องสนับสนุนการปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวสามารถทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เป็นไปตามปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


-การสนับสนุนประชาชนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินและผืนน้ำ มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าประชาชนมีบทบาท มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรในพื้นที่และท้องถิ่นของตนเอง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


-การทำสัญญาการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ เช่น ในมาตรา 190 เป็นเรื่องของการทำสัญญาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ สัญญา FTA ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ จะต้องมีการเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลของสัญญานั้น ๆ ด้วย อีกทั้งต้องมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัญญา อย่างเป็นธรรม


-การจัดให้มีการออมเพื่อใช้ในยามชรา เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น ประกอบกับการมี บุตรน้อยลง ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดภาวะที่มีคนวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง และมีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงต้องมีการจัดให้มีการออม เพื่อเป็นหลักประกันไว้ใช้ในยามชรา ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐด้วย


-บทบาททางด้านการศึกษา สาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ต่อภาครัฐ ในเรื่องการศึกษา มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าการศึกษาในช่วง 12 ปี (ป.1 - ม.6) ไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่าย และดูแลผู้ยากไร้ให้ได้รับการศึกษาอย่างทัดเทียมกัน ในเรื่องสาธารณสุขก็พยายามกำหนดมาตรฐาน คุณภาพ และบริการ ให้ทัดเทียมและทั่วถึง


-การสร้างความโปร่งใสและวินัยทางการคลัง นับว่าเป็นมิติใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีการกำหนดหมวดที่ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณขึ้น เพื่อป้องกันการใช้จ่ายงบประมาณให้รัดกุม มีรายละเอียดที่ชัดเจน และมีการดำเนินการและการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ


-การปรับปรุงภาษีให้มีความเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการกำหนดว่าฐานการผลิตอยู่ที่ใด ก็ให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ที่นั้น ซึ่งจะเป็นธรรมต่อคนในพื้นที่/ท้องถิ่นมากขึ้น จากเดิมที่มีการจัดเก็บ ณ ที่ทำการสำนักงานใหญ่ โดยได้จ่ายคืนให้กับโรงงานผลิตที่อยู่ในท้องถิ่น


-การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะทางด้านการคลัง มีการจัดให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่นขึ้น เพื่อพิจารณาว่ารายได้ประเภทใดควรจะให้ท้องถิ่นเป็นผู้เก็บเอง เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดูแลตัวเองได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืนทางการคลัง


-การจัดให้มีสาธารณูปโภคที่จำเป็น แต่ไม่ให้เอกชนผูกขาด เนื่องจากต้องการให้เกิดการแข่งขัน เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ในฐานะผู้ใช้บริการ


-โครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รัฐถือน้อยว่า 51% ไม่ได้ เช่น สายส่งกระแสไฟฟ้า ท่อแก๊ส รางรถไฟ ฯลฯ เนื่องจากมีลักษณะเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ ดังนั้น รัฐต้องถือหุ้นมากกว่า 51% เพื่อดำรงความเป็นเจ้าของในโครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้


-การคุ้มครองเกษตรในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ต้องทำให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนสูงสุดเท่าที่จะทำได้ และส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรให้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ต้องสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร


-ให้มีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวคือ ต้องมีตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้บริโภค และกำหนดไว้ชัดเจนในบทเฉพาะกาลว่า ต้องจัดตั้งองค์กรดังกล่าวภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด


สิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีจุดเด่นและสาระสำคัญ ดังนี้


-ได้สิทธิเสรีภาพตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ


-ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้


-การลดจำนวนผู้เข้าชื่อในการให้ประชาชนเข้ามาแสดงพลัง หรือ ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) โดยประชาชน 10,000 ชื่อสามารถขอเสนอกฎหมาย หรือ 20,000 ชื่อเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. (จากเดิม 50,000 ชื่อ) และ 50,000 ชื่อเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ


-การแทรกแซงสื่อเป็นการไม่ชอบ และห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อทุกชนิด เพื่อให้สื่อมีอิสระมากขึ้น


-มีการช่วยเหลือผู้ยากไร้ คนชรา ผู้ไร้ที่อยู่


-แรงงานด้านความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งการครองชีพเมื่อไม่ทำงาน กล่าวคือ ดูแลสวัสดิภาพทั้งในเวลาทำงาน และนอกเวลาทำงาน


-สิทธิผู้ยากไร้ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพในการศึกษา โดยจัดการศึกษาอย่างทัดเทียม


-สิทธิ เด็ก สตรี คนพิการ มีการเพิ่มมากขึ้น คนพิการต้องได้รับการดูแล และป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ


-สิทธิชุมชนในสิ่งแวดล้อมของตน รับรองความเป็นนิติบุคคลของชุมชน และสามารถฟ้องร้องได้เมื่อมีปัญหา หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ


-ให้ความคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงร่างกฎหมาย และการให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง


-การทำสัญญากับต่างประเทศและการเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการทำสัญญา


-ให้ความคุ้มครองการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล


การมีส่วนร่วมของประชาชนในรัฐธรรมนูญ


ประชาชนมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้


-การมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกด้าน
• การดำเนินงานภาครัฐในด้านข้อมูลของรัฐ การเข้าชื่อ การทำสัญญากับต่างประเทศ (ประชาชนต้องรู้รายละเอียดก่อน)
• การลงประชามติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หากมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชุมชนหรือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถขอความเห็นหรือขอให้ประชาชนมาลงประชามติในเรื่องต่าง ๆ ได้
• การเสนอกฎหมาย
• การถอดถอนนักการเมือง ประชาชนสามารถยื่นชื่อเพื่อขอถอดถอนนักการเมืองได้ ทั้งนักการเมืองระดับชาติ และการนักการเมืองระดับท้องถิ่น
• การแก้ไขรัฐธรรมนูญ


-ประชาชนมีอำนาจฟ้องรัฐ และหากยังไม่มีกฎหมายตามรัฐธรรมนูญกำหนด ก็สามารถขอศาลได้
-รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือประชาชน ในการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
-ให้ออกกฎหมายเพื่อตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และมีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนโยบายสาธาณะในด้านต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงการเสนอให้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองควบคู่กันไป


จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ


-มาตรฐานจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ต้องถูกจัดทำขึ้น บังคับใช้ และมีบทลงโทษ


-การฝ่าฝืนเป็นความผิดทางวินัย


-กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืน ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภาพ คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง


-ความผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้ ปปช. และถือเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนได้


-การแต่งตั้ง โยกย้าย ปรับเงินเดือน จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม และคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าว


หลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น


-จัดให้ระบบบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น จัดความสัมพันธ์ ความรับผิดชอบให้ชัดเจน ตามมาตรา 78 อนุ(2)


-กระจายอำนาจมากขึ้น รวมทั้งดูแลให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนา เท่าเทียมกันทั่วประเทศ ตามมาตรา 78 อนุ (3)


-หลักการปกครองตนเอง เป็นหลักของท้องถิ่น ที่รัฐจะกำกับเพียงเท่าที่จำเป็น ในการคุ้มครองประโยชน์ของคนในท้องถิ่น หรือ ประโยชน์ส่วนรวม


-ระบบการคลังท้องถิ่น ต้องสนองตอบบริการท้องถิ่นได้ครบถ้วน มีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้เพียงพอกับการบริการประชาชน โดยให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่น ตามมาตรา 283 วรรค 4


-ปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งทั้งการบริหารและการคลัง และร่วมกันปฏิบัติงานได้ (จัดตั้งองค์การได้) สำหรับกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจนั้น เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายนี้อยู่แล้ว จึงกำหนดเป็นหลักการที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจไว้ให้มีการดำเนินการต่อไป เพื่อให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และเพิ่มการตรวจสอบเพื่อประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ตามมาตรา 283


-เพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น ให้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษได้ ซึ่งมีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบปกติ ตามมาตรา 284


-จำนวนชื่อในการถอดถอน ตามมาตรา 285 และการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ตามมาตรา 286 เดิมกำหนจำนวนผู้เข้าชื่อในรัฐธรรมนูญ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ต้องการให้มีผลในทางปฏิบัติจริง จึงให้ไปเขียนไว้ในกฎหมาย เพื่อให้สามารถปรับให้แตกต่างกันตามขนาดและจำนวนประชากร ในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


นอกจากนี้ คุณชยพล ยังได้บรรยายถึงลักษณะเด่นอื่น ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 รวมทั้งการเปรียบเทียบระหว่างร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กับรัฐธรรมนูญปี 2540 อาทิ เรื่องสถาบันการเมือง การตรวจสอบนักการเมือง องค์กรอิสระและตุลาการ การเพิ่มอำนาจและบทบาทขององค์กรอิสระและศาล